วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2553

ประวัติวัดโพธิ์

ประวัติวัดโพธิ์



วัดโพธิ์ หรือนามทางราชการว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงและเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี เดิมชื่อ วัดโพธาราม เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระบรมมหาราชวัง หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนาพระบรมมหาราชวังแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม เมื่อปี พ.ศ.2331 และในปี พ.ศ.2344 ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ” ซึ่งต่อมาราชกาลที่ 4 ได้โปรดฯ ให้เปลี่ยนนามวัดเป็น “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม”

ครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ และขยายเขตพระอารามออกไปทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตก คือส่วนที่เป็น พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ และ สวนมิสกวัน

การบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุดเมื่อฉลองกรุงเทพฯ 200 ปี พ.ศ.2525 เป็นเพียงการซ่อมสร้างของเก่าให้ดีขึ้น ไม่มีการสร้างสิ่งใดเพิ่มเติม การสถาปนาและการบูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ในสมัยรัชกาลที่ 1 และ 3 นั้น ได้มีการระดมช่างและผู้เชี่ยวชาญงานศิลปกรรมสาขาต่างๆ สร้างสรรค์ผลงานตามพระราชประสงค์ของพระองค์ท่านที่จะให้เป็นแหล่งรวมสรรพศิลป์ สรรพศาสตร์ จึงเปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งสรรพวิชาไทย (มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรก) ที่รวมเอาภูมิปัญญาไทยไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานไทยได้เรียนรู้อย่างไม่จบสิ้น




ประวัติพระพุทธไสยาสน์วัดโพธิ์ (พระนอนวัดโพธิ์) วัดโพธิ์

พระพุทธไสยาสน์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร พระพุทธไสยาสน์วัดโพธิ์ หรือเรียกกันว่าพระนอนวัดโพธิ์ ประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือที่เรียกกันว่าวัดโพธิ์
ซึ่งตั้งอยู่ติดกับพระบรมมหาราชวังด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพระนอนที่มีขนาดยาวเป็นอันดับสามของประเทศไทย คือยาวถึงสองเส้นสามวา, รองลงมาจากพระนอนจักรสีห์ (ยาวสามเส้น สามวา สองศอก หนึ่งคืบ เจ็ดนิ้ว) และพระนอนวัดขุนอินทประมูล (ยาวสองเส้นห้าวา)

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อครั้งที่ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพลฯ ทั้งวัด องค์พระก่อด้วยอิฐคือปูน ลงรักปิดทองทั้งองค์

พระบาทของ"พระพุทธไสยาสน์วัดโพธิ์"แต่ละข้าง กว้าง 1.5 เมตร ยาว 5 เมตร มีภาพมงคล 108 ประการ เป็นลวดลายประดับมุก ภาพมงคลแต่ละอย่างจะอยู่ในช่องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ล้อมรอบด้วยภาพกงจักร ซึ่งอยู่ตรงกลางพระบาท ทั้งสองข้างมีภาพเหมือนกัน




พระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล

พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล เป็นมหาเจดีย์ขนาดใหญ่ 4 องค์ ตั้งอยู่ถัดจากพระอุโบสถ ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว สถาปัตยกรรมบริเวณซุ้มประตูมีลักษณะเป็นไทยประยุกต์แบบจีน โดยจะมีตุ๊กตาหินจีนประดับอยู่ประตูละ 1 คู่ องค์พระเจดีนั้นเป็นแบบเจดีย์ย่อไม้สิบสอง ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ โดยเจดีย์องค์ใหญ่และโดดเด่นที่สุดในวัดก็คือมหาเจดี ย์ขนาดใหญ่ 4 องค์ด้วยกัน ซึ่งเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1-4

พระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1 นั้นเป็นเจดีย์กระเบื้องเคลือบสีเขียว มีนามว่า “พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ”

พระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 2 เป็นเจดีย์กระเบื้องเคลือบสีขาว นามว่า “มหาพระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิทาน

พระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 3 เป็นเจดีย์ที่ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง นามว่า “พระมหาเจดีย์มุนีบัตบริขาร”

พระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 4 ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาบหรือน้ำเงินเข้ม มีนามว่า “พระมหาเจดีย์ทรงพระศรีสุริโยทัย”




ยักษ์วัดโพธิ์

ยักษ์วัดโพธิ์นั้นตั้งอยู่ที่ซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป โดยมีสีกายเป็นสีแดงและสีเขียว ลักษณะคล้ายยักษ์ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งมักมีผู้เข้าใจผิดว่าตุ๊กตาสลักหินรูปจีน หรือ ลั่นถัน นายทวารบาลที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าประตูวัดนั้นคือ ยักษ์วัดโพธิ์ [7]นอกจากนี้ ยังมีตำนานเกี่ยวกับยักษ์วัดโพธิ์และยักษ์วัดแจ้งซึ่งทำให้เกิดท่าเตียนในปัจจุบัน นั่นคือ ยักษ์วัดโพธิ์ซึ่งทำหน้าที่ดูแลวัดโพธิ์และยักษ์วัดแจ้งซึ่งทำหน้าที่ดูแลวัดแจ้งนั้น ทั้ง 2 ตนเป็นเพื่อนรักกัน วันหนึ่งยักษ์วัดแจ้งไปขอยืมเงินจากยักษ์วัดโพธิ์ เมื่อถึงกำหนดส่งเงินคืนยักษ์วัดโพธิ์กลับไม่ยอมจ่าย ดังนั้น ยักษ์ทั้ง 2 ตนจึงเกิดทะเลาะกัน แต่เพราะรูปร่างที่ใหญ่โตและพละกำลังที่มหาศาลของยักษ์ทั้ง 2 ตน เมื่อเกิดต่อสู้กันจึงทำให้บริเวณนั้นราบเรียบโล่งเตียนไปหมด เมื่อพระอิศวรทราบเรื่องนี้ จึงได้ลงโทษให้ยักษ์วัดโพธิ์ยืนเฝ้าพระอุโบสถวัดโพธิ์ และยักษ์วัดแจ้งยืนเฝ้าวิหารวัดแจ้งตั้งแต่นั้นมา




ตุ๊กตาจีน

ตุ๊กตาศิลาจีนเป็ประติมากรรมอันงดงามล้ำคุณค่าที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า รัชกาลที่ ๓ ทรงพระราชอุทิศถวายไว้ในคราวที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขร
วัดพระเชตุพนครั้งใหญ่ ซึ่งแสดงถึงสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างไทยกับจีนที่มีมายาวนานและแสดงเส้นทางการค้าขายในสมัย ร.๓ มีทั้งทางบกใช้ช้าง ม้า ลา และโค เป็นพาหนะ และทางน้ำใช้เรือสำเภาทั้งของไทยและจีนเป็นพาหนะ นอกจากการค้าขายสินค้าแล้วยังมีการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมประเพณี คติความเชื่อ และในยุคนั้นมีคนจีนอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารกันมากดังนั้นทางวัดจึงได้รวบรวมเรื่องราวความเป็นมาอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์

ตุ๊กตาจีนมีหลายรูปแบบ เช่น
ลั่นถัน คือ ตุ๊กตาหินยืนท้าวเอวถืออาวุธ แต่งกายแบบงิ้ว เป็นขุนนางฝ่ายบู๊ เป็นนักรบ มือถืออาวุธ หน้าตาดุเหมือนจ้องมอง มีเสื้อเกราะรัดตัวอย่างทะมัดทะแมง บางรูปก็เป็นทหารยืนประจำการอยู่ เป็นนักรบระดับขุนพล

ตุ๊กตาจีนแต่งกายแบบฝรั่ง เป็นรูปมาร์โคโปโล คือฝรั่งคนแรกที่เดินทางเข้าไปในประเทศจีน และเผยแพร่อารยธรรมตะวันตกให้แก่ชาวจีน มีอยู่ ๔ คู่ เป็นภาพสะท้อนของชาวจีน มองเห็นฝรั่งสมัยล่าอาณานิคมเป็นคนดุร้าย

ตุ๊กตาจีนขุนนางฝ่ายพลเรือนหรือฝ่ายบุ๋น หน้าตาอมยิ้มนิดๆ สวมหมวกทรงสูง มือข้างหนึ่งถือหนังสือ ข้างหนึ่งลูบเคราเหมือนกำลังครุ่นคิด สวมเสื้อคลุมยาวกรอมรองเท้า มองเป็นคนภูมิฐาน เป็นนักปกครอง นักวางแผนและขุนนางแห่งราชสำนัก

ตุ๊กตาจีนนักปราชญ์หรือซิ่วจ๋าย หน้าตาอมยิ้มสบายๆ สวมหมวกทรงสูง มีรอยทับ ใบหน้าเรียบ ไม่มีนวดเครา เหมือนคนหนุ่ม แต่งตัวภูมิฐาน สวมเสื้อคลุมยาวกรอมรองเท้า มือข้างหนึ่งถือพัด หรือถือหนังสือ ท่าทางเป็นคนมีความรู้

ตุ๊กตาจีนสามัญชน คนทำงาน ส่วนมากเป็นรูปชายไว้เครา ใส่หมวกฟาง มือข้างหนึ่งถือเครื่องมือทำงาน ถือจอบ ถือแห

ตุ๊กตาสาวจีน รูปปั้นแบบต่างๆ ส่วนมากมีหน้าตาสดชื่นยิ้มแย้ม มีทั้งรูปเกล้ามวยผูกผ้า และมีผ้าคลุมผมพลิ้วบาง สวมเสื้อคลุมยาวกรอมรองเท้า

ตุ๊กตารูปสิงโตคาบแก้ว รูปสลักสิงโตนิยมตั้งประทับที่เชิงบันได หรือหน้าประตูทางเข้าออกตามแต่ขนาด ในปากมีหินก้อนกลมเล็กๆ สามารถเอามือสอดเข้าไปกลิ้งเล่นได้

รูปสลักและรูปปั้นศิลาแบบจีน นอกจากมีรูปลักษณ์เหมือนคนแล้ว ยังมีรูปกลอง รูปสัตว์ ช้าง ม้า ควาย ไก่ ลิง หมู ตั้งประดับตามลานบริเวณเขตพุทธวาส บางแห่งอยู่ข้างสวนหินขนาดใหญ่ เล็ก ทุกตัวนั้นไม่เพียงแต่เป็นตัวแทนแห่งศิลปกรรมจีนเท่านั้น ยังบอกถึงฝีมือช่างสลักช่างปั้นว่ามีชั้นเชิงแฝงด้วยภูมิธรรม ภูมิปัญญา และปรัชญา









1 ความคิดเห็น: